ความจำเสื่อม เรียนรู้และรับมืออย่างเข้าใจ ก่อนถึงวัยผู้สูงอายุ

ปัจจุบันประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้น อันเนื่องมาจากนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่เจริญก้าวหน้า จนกระทั่งสามารถช่วยชะลอความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้สูงขึ้น แต่กลับต้องเผชิญกับโรค ความจำเสื่อม หรือโรคอัลไซเมอร์ที่นับวันจะพบผู้ป่วยเป็นโรคนี้มีอายุน้อยลงเรื่อยๆ

ความจำเสื่อม-Alzheimer-สุขภาพ

สาเหตุของโรคความจำเสื่อม

โรคความจำเสื่อมหรือที่รู้จักกันในชื่อทางการแพทย์ว่า “โรคอัลไซเมอร์” เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งมีทั้งสาเหตุที่สามารถแก้ไขได้และแก้ไขไม่ได้ อย่างเช่นโรคหลอดเลือดสมอง โรคเนื้องอกในสมอง โรคพาร์กินสัน หรือเกิดจากโรคติดเชื้อบางชนิด รวมทั้งพฤติกรรมบางอย่างในชีวิตประจำวันที่ทำร้ายสมอง ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม

 

อาการของโรคความจำเสื่อม

โรคความจำเสื่อมจะมีระยะเวลาในการเริ่มต้นก่อโรคนานถึง 15 – 20 ปี ผู้ป่วยจึงจะแสดงอาการของโรคนี้ออกมาอย่างชัดเจน จากที่ไม่มีความผิดปกติด้านความจำแล้วเริ่มมีอาการที่เรียกว่า “ความจำถดถอย” ซึ่งเป็นผลมาจากสารเบต้าอมีลอยย์ที่สะสมจนกระทั่งทำลายเซลล์สมอง

ต่อมาผู้ป่วยจะแสดงอาการของโรคความจำเสื่อมอย่างชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมักจะมาจากการละเลยปัญหาสุขภาพ โดยคิดว่าเป็นความผิดปกติเล็กๆ น้อยๆ รวมทั้งชะล่าใจว่าจะเกิดขึ้นแต่ในผู้สูงอายุเท่านั้น จนกระทั่งรุนแรงถึงขั้นไม่สามารถรักษาโรคความจำเสื่อมให้หายขาดหรือป้องกันได้ และจะต้องรับประทานยาต่อเนื่องตลอดชีวิต

 

การดูแลผู้ป่วยโรคความจำเสื่อม

หากเราทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคความจำเสื่อมอย่างถ่องแท้แล้ว จะพบว่าโรคนี้นอกจากจะเป็นปัญหากับการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสมาชิกในครอบครัวและผู้คนรอบข้างอีกด้วย ด้วยเหตุนี้แพทย์หญิงโสฬพัทธ์ เหมรัญช์โรจน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชศาสตร์ ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับแนวทางสำหรับคนที่ต้องดูแลผู้ป่วยโรคความจำเสื่อมไว้ดังนี้

  • ทำความเข้าใจ

ความเข้าใจ-understanding

ผู้ดูแลควรทำความเข้าใจ เรียนรู้ และยอมรับความเจ็บป่วยของผู้ป่วยโรคความจำเสื่อม เนื่องจากตัวผู้ป่วยเองต้องเผชิญกับปัญหาด้านความจำและทักษะการใช้ความคิด รวมทั้งสูญเสียความสามารถการแก้ไขปัญหาและการควบคุมตนเอง

ด้วยอาการเหล่านี้นี่เองที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านพฤติกรรมและบุคลิกภาพ อีกทั้งยังไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองในการใช้ชีวิตประจำวันได้ สิ่งสำคัญคือต้องเข้าใจว่าอาการที่เกิดขึ้นนั้นเป็นผลมาจากโรคความจำเสื่อม ไม่ใช่อาการเสแสร้งแกล้งทำของผู้ป่วย

  • ให้ความรัก

ความรัก-love

ผู้ดูแลควรให้ความรักและความเอาใจใส่ดูแลอย่างใกล้ชิด โดยให้กำลังใจแก่ผู้ป่วยและมองหาวิธีการรักษาด้านจิตใจ รวมถึงการดูแลช่วยเหลือเกี่ยวกับกิจวัตรประจำวันต่างๆ ตั้งแต่การอาบน้ำ ขับถ่าย ดูแลสุขอนามัย สวมใส่เสื้อผ้า การรับประทานอาหาร และจะต้องดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดเมื่อออกนอกบ้าน จะช่วยป้องกันการพลัดหลงได้

  • รู้ขีดจำกัดของตัวเอง

ขีดจำกัด

การดูแลผู้ป่วยโรคความจำเสื่อมอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา มักจะก่อให้เกิดความเครียดและปัญหาด้านอารมณ์แก่ผู้ดูแลไม่น้อยเลยทีเดียว จนในบางครั้งก็อาจจะรู้สึกผิดที่กระทำการบางอย่างลงไปด้วยอารมณ์

เพราะฉะนั้นผู้ดูแลจึงควรดูแลสภาพจิตใจและรู้ถึงขีดความอดทนของสภาพอารมณ์ หากรู้สึกเหนื่อยก็หยุดพักแล้วให้ผู้อื่นมาดูแทนบ้าง เมื่อพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจค่อยกลับมาดูแลใหม่

 

โบราณว่าการไม่มีโรคคือลาภอันประเสริฐ โดยเฉพาะผู้สูงอายุในปัจจุบันที่เราเชื่อว่าย่อมรู้ซึ้งถึงอาการของโรคความจำเสื่อมเป็นอย่างดี ดังนั้นเราจึงควรบริหารสมองเป็นประจำตั้งแต่วัยหนุ่มสาว พร้อมกับรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เมื่อมีอายุ 40 ปีขึ้นไป ควรเริ่มตรวจวินิจฉัยโรคความจำเสื่อมและโรคต่างๆ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงและได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

 

เอกสารอ้างอิง

  1. โรงพยาบาลกรุงเทพ. “โรคความจำเสื่อม เทคนิคใหม่ตรวจโรคอัลไซเมอร์ รู้ผลไวไม่เจ็บตัว” bangkokhospital.com
  2. โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ “เมื่อสมองเสื่อม เราจะทำอะไรได้บ้าง”bumrungrad.com
  3. โรงพยาบาลศิริราช. “รับมือ…ภาวะสมองเสื่อม” si.mahidol.ac.th

 

อ่านเพิ่มเติม…กรดไหลย้อน GERD ป้องกันได้

[yasr_visitor_votes size=”medium”]