โรคกระเพาะอาหาร ภัยเงียบของวัยทำงานจากอาการหิวหรืออิ่มก็ปวด

            เมื่อสังคมในยุคปัจจุบันนั้นเต็มไปด้วยการแข่งขัน ทำให้ผู้คนจำเป็นต้องใช้ชีวิตอย่างรีบเร่งจนกระทั่งประสบความเจ็บป่วย โรคกระเพาะอาหาร อันเนื่องมาจากการละเลยดูแลสุขภาพที่ดี โดยมักจะมีอาการที่เรียกกันติดปากว่า “หิวก็ปวด อิ่มก็ปวด” นั่นเอง

โรคกระเพาะอาหาร-ภัยเงียบวัยทำงาน-สุขภาพ

ใครมีความเสี่ยงเป็นโรคกระเพาะอาหารได้บ้าง

               โรคกระเพาะอาหารสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนทุกเพศและทุกวัย ซึ่งมักจะพบมากในวัยกลางคน ในขณะที่จะเริ่มมีอาการเป็นแผลบริเวณลำไส้เล็กส่วนต้นในวัยหนุ่มสาว อีกทั้งยังอาจกล่าวได้ว่าทุกคนล้วนมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้ได้ในช่วงหนึ่งของชีวิต

 

อาการปวดแบบใดที่เรียกว่าโรคกระเพาะอาหาร

ผู้ป่วยที่เป็นโรคกระเพาะอาหารจะมีอาการปวดแน่นบริเวณลิ้นปี่หรือช่วงกลางท้องเหนือสะดือ รู้สึกจุกและแสบท้อง ซึ่งจะแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ ดังนี้

1.ปวดท้องแบบเฉียบพลัน

คืออาการปวดรุนแรงที่เกิดขึ้นทันทีทันใด ทั้งที่ไม่เคยปวดเช่นนี้มาก่อน แพทย์จะต้องวินิจฉัยว่าเกิดจากโรคใด เพราะอาจจะเป็นโรคอื่นๆ อย่างเช่นตับอ่อนอักเสบหรือนิ่วในถุงน้ำดีก็ได้

2.ปวดท้องเรื้อรัง

พบได้บ่อยที่สุดคือจะมีอาการปวดแบบเป็นๆ หายๆ ไม่ต่ำกว่า 1 เดือน มักจะมีความเกี่ยวข้องกับมื้ออาหาร แต่เมื่อรับประทานอาหารหรือยาลดกรดแล้วก็จะมีอาการดีขึ้น

 

อาการโรคกระเพาะอาหารที่ต้องพบแพทย์ทันที

พบแพทย์-โรคกระเพาะอาหาร

               ถ้ามีอาการปวดท้องแบบเป็นๆ หายๆ นานกว่า 4 สัปดาห์ หรือมีอาการปวดท้องร่วมกับการอาเจียน เกิดภาวะโลหิตจาง มีไข้เรื้อรัง ตาเหลือง น้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว ปวดท้องแบบรุนแรงมากขึ้น หรือรับประทานยาลดกรดเป็นระยะเวลา 1 – 2 สัปดาห์แล้วไม่ดีขึ้น ควรต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษาโดยเร็ว

 

โรคกระเพาะอาหารแบบปวดเรื้อรัง

               นพ.สิริวัฒน์ อนันตพันธุ์พงศ์ อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ ได้อธิบายว่าโรคกระเพาะอาหารแบบปวดเรื้อรังจะแบ่งออกทั้งที่เกิดจากความผิดปกติของกระเพาะอาหารเอง เช่น กระเพาะอาหารอักเสบ เป็นแผลในกระเพาะอาหาร เป็นแผลในลำไส้เล็กส่วนต้น หรือเกิดจากโรคมะเร็งในกระเพาะอาหาร ซึ่งมีอัตราการเกิดโรคนี้ประมาณ 20 – 25% ของผู้ป่วยโรคกระเพาะอาหารชนิดเรื้อรัง

               ส่วนผู้ที่กระเพาะอาหารไม่แสดงความผิดปกติใดๆ ก็สามารถเป็นโรคกระเพาะอาหารได้เช่นกัน โดยเกิดจากการทำงานที่ผิดปกติอย่างเช่นมีกรดในกระเพาะอาหารมากเกินไป การบีบตัวของกระเพาะอาหารกับลำไส้ทำงานไม่ประสานกัน ด้วยอาการที่กล่าวมานี้จึงทำให้จำนวนผู้ป่วย 70 – 75% ต้องมารับการรักษาจากแพทย์

 

มีกรดเกินต้องเป็นโรคกระเพาะอาหารหรือไม่

               ถึงแม้ว่าสาเหตุส่วนหนึ่งของโรคกระเพาะอาหารนั้นเกิดจากภาวะกรดเกิน แต่ก็ไม่จำเป็นต้องมีอาการปวดท้องร่วมด้วยเสมอไป เพราะมีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่ถ่ายอุจจาระเป็นสีดำหรืออาเจียนเป็นเลือด ซึ่งเกิดจากสาเหตุแผลในกระเพาะอาหารที่มาจากกรดเกิน หรือเป็นโรคกรดไหลย้อนที่ทำให้รู้สึกแสบและแน่นหน้าอกจนส่งผลให้หลอดอาหารอักเสบ รวมทั้งไอที่เกิดจากอาการอักเสบของกระเพาะอาหารลามมาถึงคอ

 

               การป้องกันโรคกระเพาะอาหารที่ดีที่สุดคือ หลีกเลี่ยงสาเหตุที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคนี้ ด้วยการดูแลและใส่ใจด้านอาหารการกินให้มากขึ้น ขมิ้นชันและอบเชยเทศก็ถือว่าเป็นเครื่องเทศที่ช่วยป้องกันหรือลดความเสี่ยงได้ในระดับหนึ่งอีกด้วย

 

เอกสารอ้างอิง

  1. โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์. “อาการปวดท้องกับโรคกระเพาะอาหาร” bumrungrad.com
  2. โรงพยาบาลวิภาวดี “กระเพาะอาหารอักเสบ (Gastiritis)” vibhavadi.com
  3. Goodlife. 10 สูตรยา พอก กิน ทา รักษากระเพาะอาหาร” goodlifeupdate.com

อ่านเพิ่มเติม…พริกป่น พิชิตโรคร้ายและความอ้วน

[yasr_visitor_votes size=”medium”]