10 สัญญาณเตือน โรคตับ และโรคเกี่ยวกับตับที่พบได้บ่อย
ตับมีหน้าที่สำคัญๆ คือการผลิตน้ำดีที่ช่วยในการย่อยอาหารประเภทไขมัน รวมทั้งกำจัดสารพิษที่ร่างกายได้รับด้วยการขับออกไม่ให้เกิดการตกค้าง อีกทั้งยังช่วยผลิตสารที่ทำให้เลือดแข็งตัวเวลาเป็นแผลเลือดออก แต่สำหรับผู้ป่วย โรคตับ หรือมีภาวะเสี่ยงให้ตับได้รับบาดเจ็บหรือเป็นแผลจนกระทั่งกลายเป็นพังผืดเกิดขึ้นในเนื้อตับ จะส่งผลให้การทำงานของตับมีประสิทธิภาพน้อยลง จากนั้นระบบภายในร่างกายแปรปรวนแล้วเกิดโรคอื่นๆ ตามมา
อาการที่อาจเสี่ยงต่อการเป็นโรคตับ
1.มีอาการคันตามบริเวณต่างๆ ของร่างกาย อันเนื่องมาจากน้ำดีสะสมอยู่ที่บริเวณผิวหนังส่วนนั้น
2.ตัวเหลืองและตาเหลืองคล้ายกับโรคดีซ่าน
3.รู้สึกอ่อนเพลียง่าย ไม่มีเรี่ยวแรง เบื่ออาหาร คลื่นไส้ และนอนไม่ค่อยหลับ
4.ประจำเดือนมาไม่ปกติ มาไม่สม่ำเสมอ ส่วนผู้ชายอาจมีอาการเจ็บบริเวณเต้านม เต้านมขยาย อัณฑะฝ่อตัว หรือมีอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศโดยที่ไม่ทราบสาเหตุ
5.มีอาการบวมบริเวณแขน ขา หน้าท้อง และหลังเท้า
6.ผู้ป่วยโรคตับมักจะมีระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายลดลง
7.มีอาการร้อนวูบบริเวณช่องอก ปวดแน่นชายโครง และมีอาการตึงบริเวณกล้ามเนื้อช่องท้อง
8.บริเวณมุมปากและริมฝีปากมีสีคล้ำผิดปกติ ลิ้นมีสีม่วงคล้ำ
9.เลือดออกง่ายผิดปกติเวลาที่มีบาดแผลและไม่ยอมหยุดไหลง่ายๆ
10.ผู้ที่มีอาการรุนแรงมากขึ้นอาจจะอาเจียนเป็นเลือด เนื่องจากความดันในตับสูงและอาจส่งผลให้หลอดเลือดดำแตกได้
อาการทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นส่วนหนึ่งของผู้ป่วยโรคตับเท่าที่สามารถสังเกตด้วยตนเองได้ บางรายมีอาการขี้หงุดหงิด โมโหง่าย รู้สึกเครียด ซึ่งอาจจะดูคล้ายกับคนปกติทั่วไป แต่ควรจะต้องได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์จึงจะยืนยันได้ว่าเป็นโรคตับหรือไม่
โรคตับอักเสบ (Hepatitis)
เป็นโรคตับที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย ซึ่งมักจะมีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสตับอักเสบ โดยเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดเอจะติดต่อผ่านทางอาหารและน้ำที่ไม่สะอาด ส่วนไวรัสตับอักเสบชนิดบีจะติดต่อผ่านทางการสัมผัสเลือดของผู้ที่เป็นพาหะหรือใช้ของมีคมร่วมกัน รวมทั้งการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นพาหะ สำหรับไวรัสตับอักเสบชนิดซีจะติดต่อคล้ายกับชนิดบี แต่จะพบได้น้อยกว่า 2 ชนิดแรก
โรคตับแข็ง (Cirrhosis)
เป็นโรคตับที่เกิดจากปล่อยปละละเลยจากโรคตับอักเสบเป็นระยะเวลานานๆ จนกระทั่งมีอาการเรื้อรังแล้วเกิดเป็นพังผืดหรือแผลเป็นในตับมากขึ้น เนื้อตับส่วนที่ดีจะมีปริมาณลดลง ส่วนผิวตับจะเริ่มหยาบและมีผิวขรุขระ ส่งผลกระทบต่อการทำงานของตับและกลายเป็นภาวะโรคตับแข็งในที่สุด
โรคมะเร็งตับ (Liver Cancer)
เป็นโรคตับอีกชนิดหนึ่งที่เกิดจากภาวะตับอักเสบเรื้อรังหรือโรคตับแข็ง อีกทั้งยังอาจเกิดขึ้นได้จากอวัยวะส่วนอื่นๆ ในช่องท้องที่แพร่กระจายไปยังตับ เช่น กระเพาะอาหาร ตับอ่อน และลำไส้ใหญ่ ซึ่งเรียกกันว่าโรคมะเร็งตับแพร่กระจาย แต่ปัจจุบันวิทยาการทางการแพทย์ได้รับการพัฒนามากขึ้น ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสหายขาดหรือมีชีวิตที่ยืนยาวได้
นพ.นุสนธิ์ กลัดเจริญ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคทางเดินอาหารและตับ กล่าวว่า โรคตับมักจะไม่ค่อยมีสัญญาณเตือนจากร่างกายแจ้งให้ทราบ ซึ่งกว่าจะรู้ตัวก็ทำให้เนื้อเยื่อตับถูกทำลายไปมาก ดังนั้นการใส่ใจดูแลสุขภาพด้วยการเลือกรับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ ตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคตับ วิธีต่างๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในการป้องกันโรคต่างๆ เกี่ยวกับตับนั่นเอง
เอกสารอ้างอิง
- โรงพยาบาลเปาโล. “10 อาการเตือนว่าโรคตับ” paolohospital.com
- โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์. “ภัยต่อเนื่องของโรคตับ” bumrungrad.com
อ่านเพิ่มเติม…เทียนข้าวเปลือก ช่วยย่อย แก้ปวดท้อง
[yasr_visitor_votes size=”medium”]